xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.เซ็นเลิกสัญญา NGV ร่อนหนังสือแจ้ง “ช ทวี” จ่อเรียกค่าเสียหายกว่า 1 พันล้าน ชงขึ้นบัญชีดำปมทิ้งงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผอ.ขสมก.เซ็นแล้ว เลิกสัญญาซ่อมรถ NGV 486 คัน เร่งส่งหนังสือแจ้ง "ช ทวี" พร้อมริบหลักประกัน 426 ล้านบาท และแจ้งกรมบัญชีกลาง เหตุทิ้งงานจ่อขึ้นบัญชีดำ ลุยทำ TOR เร่งจัดจ้างบริษัทซ่อมใหม่ใน มิ.ย.นี้

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า วันที่ 25 เม.ย. 2567 ตนได้ลงนามในหนังสือ แจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO โดยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ในการซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) ยี่ห้อบอนลัค จำนวน 486 คัน ที่จอดเสีย เนื่องจากปัญหาการซ่อมบำรุง ซึ่ง ขสมก.บอกเลิกสัญญาตามข้อ 21.2 พร้อมใช้สิทธิ์ในการริบหลักประกันสัญญาทั้งจำนวนวงเงิน 426 ล้านบาท และการเรียกค่าเสียหายและคิดค่าปรับจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งสงวนสิทธิ์เพิ่มเติมไว้

โดยจะดำเนินการแจ้งไปยังเอกชนตามขั้นตอนภายในวันเดียวกัน พร้อมกันนี้ ขสมก.ได้รวบรวมเอกสารข้อเท็จจริงที่เอกชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาจ้างฯและการทิ้งงาน เพื่อแจ้งไปยังปลัดกระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลางเพื่อพิจารณาขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ตามระเบียบต่อไป

ทั้งนี้ ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาระบุว่า ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม 2566 ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากลุ่มร่วมทำงานฯ ปฏิบัติหน้าที่ซ่อมแซมรถยนต์โดยสารไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลทำให้เกิดรถเสียในเส้นทางเป็นจำนวนมาก ประกอบกับกลุ่มร่วมทำงานฯ ไม่สำรองอะไหล่ไว้ให้เพียงพอต่อการซ่อมบำรุงรถโดยสารทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อการให้บริการสาธารณะเป็นอย่างมาก จึงเห็นว่ากลุ่มร่วมทำงานฯ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์สัญญาจ้าง ข้อ 14.3 ที่กำหนด ว่าก่อนการเดินรถในแต่ละวันกลุ่มร่วมทำงานฯ จะต้องมอบรถยนต์โดยสารที่ซ่อมแซมและบำรุงรักษาเสร็จแล้ว ซึ่งอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานให้แก่องค์การและสถานที่เก็บรถยนต์โดยสารขององค์การที่ใช้เก็บตามปกติหรือสถานที่อื่นตามที่องค์การหรือกลุ่มร่วมทำงานฯ ได้ตกลงกัน โดยกลุ่มร่วมทำงานฯ จะต้องรับผิดในค่าปรับตามข้อ 16 ของสัญญา

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
ส่วนกรณีที่เอกชนระบุว่า ขสมก.ไม่ชำระค่าซ่อมบำรุงนั้น เรื่องนี้ไม่ถูกต้อง เพราะกระบวนการเบิกจ่ายค่าจ้างตามงวดงานนั้นต้องอ้างอิงตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งกรณีนี้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ (งานจ้าง) จะต้องตรวจสอบการทำงานและส่งมอบรถของคู่สัญญาให้ครบถ้วน ตรงกัน จึงจะเบิกจ่ายค่างวดงานได้ ซึ่งพบว่าเอกชนแจ้งข้อมูลรถเสียไม่สามารถใช้งานได้คลาดเคลื่อนจากที่คณะกรรมการตรวจรับพิจารณา จึงต้องมีการตรวจสอบให้ถูกต้องเสียก่อนจึงจะชำระเงินได้

ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏปัญหาการซ่อมบำรุงตั้งแต่เดือน ก.ค. 2567 ทำให้เอกชนต้องชำระค่าปรับจำนวนมากให้ ขสมก. โดย ขสมก.ใช้สิทธิในการหักเงินค่าปรับตามข้อ 19 ของสัญญา ซึ่งกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สามารถดำเนินการซ่อมบำรุงและจัดหาสต๊อกอะไหล่ได้ตามเงื่อนไขสัญญา

ผอ.ขสมก.กล่าวว่า เมื่อ ขสมก.ได้ดำเนินการจัดส่งหนังสือบอกเลิกสัญญา กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ในวันที่ 25 เม.ย. 2567 โดยมีการลงตราประทับไปรษณีย์เรียบร้อย ถือว่าขั้นตอนการบอกเลิกครบถ้วน หลังจากนั้น ขสมก.จะสามารถเริ่มขั้นตอนการจัดหาผู้ดำเนินการซ่อมแซมบำรุงรักษารถโดยสาร NGV จำนวน 486 คัน รายใหม่ทันที โดยจะจัดตั้งคณะกรรมการร่างขอบเขตของงาน/คุณสมบัติเฉพาะของพัสดุ (TOR) ภายใน 3 วัน โดยจะใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในการจัดหา เนื่องจากเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องซ่อมฟื้นฟูรถโดยสาร NGV จำนวน 246 คันเพื่อนำมาวิ่งให้บริการประชาชนโดยเร็ว ตั้งเป้าภายในเดือน มิ.ย. 2567 ซึ่งตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 วิธีเฉพาะเจาะจงนั้นจะต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน หากใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีคัดเลือกอาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือประโยชน์สาธารณะ


รายงานข่าวแจ้งว่า ในการเรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาครั้งนี้ ขสมก.ยึดเงื่อนไขตามสัญญา โดยริบหลักประกันสัญญาที่วางเงินสดไว้จำนวน 426 ล้านบาททันที อีกส่วนหนึ่งเป็นค่าเสียหายและค่าปรับที่สงวนสิทธิ์ต่อไป โดยค่าเสียหาย เช่น รายได้ที่หายไปจากที่ไม่มีรถ NGV 486 คันวิ่งให้บริการ, ค่าเสียหายจากกรณีถูกคู่สัญญาอื่น เช่น ผู้ซื้อโฆษณาบนรถฟ้องร้อง หรือเคลม, ค่าใช้จ่ายเพิ่มจากกรณีการหาผู้ซ่อมบำรุงรายใหม่ที่อาจจะมีค่าซ่อมสูงขึ้นจากเดิม เป็นต้น ซึ่งคาดว่ามีมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560 ขสมก.ได้ลงนามกับกิจการค้าร่วม (Consortium) ระหว่าง บริษัท สแกน อินเตอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ SCN กับบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ในนาม “กลุ่มร่วมทํางาน SCN-CHO” จัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซม และบำรุงรถโดยสาร 489 คัน มูลค่าโครงการ 4,261 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของการจัดซื้อรถ 489 คัน วงเงิน 1,891 คัน ( 3.86 ล้านบาท/คัน) และเป็นการซ่อมแซม และบำรุงระยะ 10 ปี แบ่งเป็นปีที่1- ปีที่ 5 วงเงิน 925 บาท/คัน/วัน ปีที่ 6-ปีที่ 10 วงเงิน 1,730 บาท/คัน/วัน 
กำลังโหลดความคิดเห็น